

เสลดพังพอนตัวผู้
ชื่อสามัญ : Hop Headed Barleria
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barleria lupulina Lindl.
ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE
ชื่ออื่นๆ : เสลดพังพอนตัวผู้ พิมเสนต้น ทองระอา ช้องระอา ลิ้นงูเห่า (ภาคกลาง กรุงเทพ) ก้านชั่ว ค้นชั่ว (ตาก) เช็กเชเกี่ยม ฮวยเฮียะ แกโตว่เกียง (จีน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
เสลดพังพอน เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1 เมตร มีหนามแหลมยาว ข้อละ 2 คู่ ถึง 3 คู่ มีถิ่นกำเนิดในสาธารณรัฐมอริเชียสซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดียแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณประเทศใกล้เคียง และยังมีการนำเข้ามาใช้ประโยชน์และปลุกยังดินแดนเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยนั้นสามารถพบเสลดพังพอนได้ทุกภาคของประเทศ โดยอาจจะพบในลักษณะของการปลูกไว้ใช้ประโยชน์หรือขึ้นเป็นวัชพืชก็ได้
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ
ดอก อกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก คือ ปากล่างและปากบน ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนกลีบรองกลีบดอกนั้นเป็นสีเขียว ยาวเท่า ๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียว ๆ อยู่โดยรอบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยงไม่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม (แต่มักจะไม่ค่อยออกดอก)
ผล ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ (แต่ผลไม่เคยติดเป็นฝักในประเทศไทย) ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวรี ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด
ประโยชน์
ตำรายาไทย
ใบ มีรสจืดเย็น แก้โรคเริม งูสวัด (โดยใช้ใบสดครั้งละ 1 กำมือ ตำให้ละเอียดแทรกพิมเสนเล็กน้อย นำมาทา หรือนำผสมสุราแล้วพอกบ่อยๆ บริเวณที่เป็น) หรือตำกับสุรา คั้นเอาน้ำดื่ม เอากากพอก แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้ลมพิษ แก้พิษงูกัด แก้ไฟลามทุ่ง แก้แผลกลาย
ใบสด 2-10 ใบ ขยี้หรือตำให้แหลก นำมาทาหรือพอก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลมีเลือดออก
ราก มีรสจืดเย็น ฝนกับสุราดื่ม ทาแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษตะขาบ แมลงป่อง
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การทดลองในสัตว์พบว่าใบมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ