

จุดประสงค์เฉลิมราชคลองแห

๑. ชื่อแหล่งเรียนรู้
ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ตำยลคลองแห พัฒนาสู่ “ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห”
๒. ที่อยู่
วัดคลองแห เลขที่ ๑๒๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ๙๐๑๑๐ โทรศัพท์ ๐๘๑-๙๙๐๕๖๐๔
๓. ผู้รับผิดชอบ
๓.๑ เทศบาลเมืองคลองแห
๓.๒ วัดคลองแห (พระครูปลัดสมพร ฐานธฺรรมโม เจ้าอาวาสวัดคลองแห) และคณะกรรมการศูนย์
๔.วัตถุประสงค์
๑.เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา
๒.เพื่อพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำหรับเป็นแหล่งรวบรวม อนุรักษ์ ถ่ายทอด สืบสาน และใช้ประโยชน์องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
๓.เพื่อจัดทำศูนย์ข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างเป็นระบบเพื่อการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิง
๔.เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานทางวัฒนธรรม หลายฝ่ายแบบพหุพาคีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
๕.เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการต่อยอดมรดกภูมิปัญญาและสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้าและบริการในภาคส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
๕. หลักการและเหตุผล
ด้วยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประเมินผลงาน “โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลคลองแห” และ ได้คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” เพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา เทศบาลเมืองคลองแห และวัดคลองแห พร้อมหน่วยงานที่ได้สนับกิจกรรมส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมมาโดยตลอด ในการจัดกิจกรรมต่างๆด้านประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ตามโครงการ “วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลคลองแห” ประกอบกับทางวัดได้จัดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งมี วัตถุโบราณจำนวนมาก ซึ่งมีทั้ง พระพุทธรูป เทวรูป ปางต่างๆ เครื่องเขิน เครื่องถม เครื่องเงิน ถ้วยชาม เครื่องดำรงชีวิตตามวิถีไทยโบราณ อาวุธ เงินตราชนิดต่างๆ เครื่องมือดักจับสัตว์ประเภทต่างๆ หนังสือ ซึ่งเป็นตำราทั้งเก่าและใหม่ รวมกัน ตำนานต่างๆที่เล่าสืบต่อกันมา ฯลฯ ที่ได้จากการบริจาคจากชุมชน ทางวัดโดยท่านเจ้าอาวาส พระครูปลัดสมพร ฐานธรรมโม ได้ให้สถานที่อาคาร พิพิธภัณฑ์ตำบลคลองแหชั้นที่ ๒ เป็นสถานที่จัดแสดง แต่ยังขาดกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ นักเรียนโรงเรียนต่างๆ ก็ได้เข้ามาสืบค้นข้อมูลในเรื่องต่างๆอย่างต่อเนื่อง จึงนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นด้าน มรดกวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง ที่สามารถให้บริการสืบค้นข้อมูลด้านดังกล่าวได้
นับเป็นโอกาสดียิ่งที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้คัดเลือก “โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลคลองแห” เข้า ร่วมโครงการ “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” คณะกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการ จึงถือว่าเป็นมิ่งมงคลแก่ชุมชนตำบลคลองแห ที่มีโอกาสได้ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน และ พัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประเพณีวัฒนธรรม ยกฐานะเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเมืองคลองแห” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน มรดก ประเพณีวัฒนธรรมสืบไป
๖. แนวทางดำเนินการ
๑.ขอคำปรึกษาและคำชี้แนะจากคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลาถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช”
๒.ประชุมคณะกรรมการที่รับผิดชอบโครงการ เพื่อจัดทำโครงการ และ จัดทำแผนพัฒนา แหล่งเรียนรู้ของโครงการ “วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลคลองแห” ให้สอดคล้องกับวัตถุระสงค์ของ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช
๓.คณะกรรมการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “จัดทำแผนปฏิบัติงานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ๔ ปี ของจังหวัดสงขลา
๔.วิเคราะห์ข้อมูล งาน และ กิจกรรมต่างๆ ของโครงการ “วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลคลองแห” และนำข้อเสนอแนะของ ผู้ทรงคุณวุฒิฯ โครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชในการลงพื้นที่สำรวจแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ในด้านต่างๆ ทั้งจุดเด่น และ จุดด้อย มาจัดทำแผนและโครงการ
๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อดำเนินงานครบตามแผน ๔ ปี
๑.“ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเมืองคลองแห” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ ได้รวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์ ถ่ายทอด สืบสาน ด้านมรดก และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในระดับท้องถิ่น
๒.เป็นแบบอย่างของ ศูนย์รวบรวมข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างเป็นระบบเพื่อการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิง
๓. เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานทางวัฒนธรรม หลายฝ่ายแบบพหุพาคีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
๔. สามารถส่งเสริมและพัฒนาการต่อยอดมรดกภูมิปัญญาและสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้าและบริการในภาคส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์