

ประมวลภาพ กิจกรรมทอดกฐินสามัคคี วัดคลองแห ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒
พิธีทอดกฐิน เมื่อสิ้นฤดูกาลเข้าพรรษา (ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน) พระภิกษุทั่วประเทศมีอิสระที่จะเดินทางไปยังที่หนึ่งที่ใดก็ได้ และได้รับอนุญาตให้ได้รับจีวรใหม่ในพิธีทอดกฐินประจำปี นอกจากผ้าจีวรใหม่ก็มีเครื่องอัฎฐบริขาร อุปกรณ์เครื่องครัว เงินบริจาคทานและอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น ตะปู เลื่อยมือ และค้อน เป็นต้น ซึ่งก็ถวายไปพร้อมกันในพิธีนี้ด้วย
ที่จริงแล้ว คำว่า “ทอด” หมายถึง “การถวายทานแก่พระสงฆ์” และคำว่า “กฐิน” แปลตามตัวหมายถึง “ไม้สะดึง” (คือไม้แบบตัดจีวร) ใช้ในการเย็บผ้าจีวรเพราะในสมัยก่อนต้องเก็บเอามาจากเศษผ้า จากซากศพในป่า เพราะว่าผ้าจีวรไม่มีจำหน่ายมากมายอย่างเช่นทุกวันนี้ ชาวพุทธถือว่า “พิธีทอดกฐิน” เป็นการทำบุญที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งรองจากพิธีอุปสมบทของญาติสนท ดังนั้นในช่วงชีวิตหนึ่งทุกคนต่างก็หาโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐิน เพราะว่าพิธีนี้ต้องใช้เวลามาก ทั้งกำลังคนและค่าใช้จ่ายสูง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ จะต้องมีการจองล่วงหน้า มิฉะนั้นโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพกฐินแต่เพียงผู้เดียวก็คงจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดที่มีชื่อเสียง แม้กระนั้นผู้ที่พลาดโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียวก็ยังสามารถเข้าร่วมในการทอดกฐินได้ ซึ่งกฐินประเภทนี้เรียกว่า “กฐินสามัคคี”
ในขณะเดียวกัน สำหรับ พระอารามหลวง* เช่น วัดอรุณฯ หรือวัดโพธิ์ฯ เป็นต้น พระมหากษัตริย์ หรือผู้แทนพระองค์จะเป็นเจ้าภาพกฐินและโดยปกติพระมหากษัตริย์ก็จะทรงถวายผ้ากฐินหลวงต่อพระสงฆ์โดยพระองค์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดโพธิ์ และวัดหลวงที่สำคัญๆ อื่น ๆ เช่น วัดอรุณ ซึ่งในโอกาสนี้พระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จโดยเรือพระที่นั่ง พร้อมทั้งมีขบวนเรือติดตามที่สวยงามล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจากท่าวาสุกรีไปยังท่าน้ำวัดอรุณฯ ขบวนเรือพระที่นั่งนี้เป็นภาพที่สวยงามมากซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ควรจะพลาดโอกาสชมเหตุการณ์นี้อันจะติดตาตรึงใจในประเทศไทยไปตลอดกาลนาน
บางครั้งขบวนกฐินก็เดินทางไปทอดเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร โดยทางรถโดยสาร รถไฟ ทางเรือหรือแม้แต่ทางเครื่องบินเพื่อถวายผ้ากฐินและของไทยธรรมอื่นๆ ต่อพระสงฆ์ในวัดตามชนบท หรือแม้แต่ในต่างประเทศที่มีวัดพุทธศาสนาตั้งอยู่ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือเอาโอกาสอันเป็นกุศลนี้ไม่เพียงแต่เพื่อประกอบบุญกุศลให้กับตนเองเท่านั้น แต่ยังได้สนุกสนานในวันหยุด เป็นอิสระจากชีวิตอันวุ่นวายเต็มไปด้วยความตึงเครียดในเมืองหลวงไปชั่วขณะหนึ่งด้วย ในช่วงเทศกาลทอดกฐินนี้ จะดูเป็นเรื่องธรรมดาที่จะได้เห็นขบวนกฐินเดินทางไปๆ มาๆ ทั่วทั้งประเทศ ที่จริงแล้วทุกคนสามารถเข้าร่วมในพิธีนี้ได้โดยวิธีการง่ายๆ เช่น การใส่เงินจำนวนเล็กน้อยลงในซองสีขาวที่แจกให้โดยเพื่อน ๆ หรือญาติๆ ก็เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมแล้ว
* ปัจจุบันวัดหลวง 16 วัด ที่ได้รับกฐินหลวง 1. วัดมหาธาตุฯ กทม. 2. วัดพระเชตุพนฯ กทม. 3. วัดสุทัศน์ฯ กทม. 4. วัดบวรนิเวศฯ กทม. 5. วัดเบญจมบพิตร กทม. 6. วัดราชบพิธ กทม. 7. วัดราชประดิษฐ์ฯ กทม. 8. วัดเทพศิรินทร์ฯ กทม. 9. วัดราชาธิวาส กทม. 10. วัดมกุฎกษัตริย์ฯ กทม. 11. วัดอรุณราชวราราม กทม. 12. วัดราชโอรสฯ กทม. 13. วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม 14. วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา 15. วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน อยุธยา 16. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
เป็นที่น่าสังเกตว่า กฐิน และผ้าป่านี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง (ผ้าป่าหมายถึงผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในป่าเพื่อให้พระภิกษุได้ชักเอาไปทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม) ในขณะที่พิธีทอดกฐินจัดให้มีขึ้นได้เพียงปีละครั้งและหลังจากออกพรรษาแล้วเท่านั้น ส่วนพิธีทอดผ้าป่าสามารถจะทอดได้ตลอดทั้งปีและเวลาใดก็ได้แล้วแต่จะเห็นว่าเหมาะสม นอกจากนี้ในแต่ละวัดก็ได้รับพุทธานุญาตให้รับผ้ากฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในแต่ละปี ส่วนผ้าป่าสามารถจะถวายแก่พระสงฆ์ได้บ่อยจะสักกี่ครั้งก็ได้ เห็นได้ชัดว่า ผ้าป่าจะมีความสำคัญน้อยกว่าพิธีทอดกฐิน ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวมาก ดังนั้น กฐินจึงถือเป็นพิธีทางศาสนาที่สำคัญมาก ซึ่งทุกๆ คนสามารถเข้าร่วมได้นับจากองค์พระมหากษัตริย์ไปจนถึงคนจนในชนบท