กฤษณา
ชื่อสามัญ Eagle wood, Agarwood, Aglia, Aloewood, Akyaw, Calambac, Calambour, Lignum aloes
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte
ชื่อวงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่ออื่น : สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จันทบุรี), ไม้หอม (ภาคตะวันออก, ภาคใต้), ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้), กายูการู กายูกาฮู กายูดึงปู (ปัตตานี, มาเลเซีย), เซงเคง (ภาษากะเหรี่ยง), อครุ ตคร (บาลี), ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ) (จีน), จะแน, พวมพร้าวปอห้า (คนเมือง), ชควอเซ ชควอสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21เมตรขึ้นไป วัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำๆ หรือรูปกรวย ลำต้นตรง มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบสีเทาอมขาว เนื้อไม้อ่อนสีขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริเป็นร่องเล็กๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง
ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียบสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม
ดอก สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศเกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือTerminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน
เนื้อไม้ ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดซักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำจะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่างๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว (Resin)อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b. Agarofuran, a-Agarofuran, Agarospirol และ Agarol
ประโยชน์และสรรพคุณกฤษณา
ไม้กฤษณา ใช้ส่งขายเพื่อนำไปใช้ผสมเข้าเครื่องหอมทุกชนิด หรือนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม เช่น น้ำอบไทย น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ยาหอม ชาวอาหรับ นิยมใช้ไม้หอมของต้นกฤษณามาเผาไฟเพื่อใช้อบห้องให้มีกลิ่นหอม ส่วนชาวฮินดูจะนิยมนำมาใช้จุดไฟ เพื่อให้กลิ่นหอมในโบสถ์ ส่วนประโยชน์ของไม้กฤษณาทั่วไปที่มีมีน้ำมัน สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การทำฝาบ้าน เพดาน พื้นบ้าน เป็นต้น
เปลือกต้นสามารถให้เส้นใยที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือก กระดาษ เสื้อผ้า ย่าม ใช้สานหมวก ถุง และที่นอน และเปลือกชั้นนอกของต้นกฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นยากันยุงได้ ส่วนเปลือกชั้นกลางนำมาใช้ทำเป็นเครื่องจักสาน และเปลือกชั้นในนำมาใช้สำหรับทอผ้าและเชือกป่านได้
น้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอางได้ ซึ่งทางยุโรปนิยมนำมาปรุงเป็นน้ำหอมกฤษณาชนิดคุณภาพดี ที่ใช้แล้วติดผิวกายได้นานยิ่งขึ้น ส่วนน้ำกลั่นกฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นสบู่เหลว สบู่หอม ทำเป็นยาสระผม เครื่องประทินผิว หรือใช้สำหรับทำสปาเพื่อระงับความเครียด และชาวอาหรับยังนิยมใช้น้ำหอมกฤษณามาทาตัวเพื่อเป็นเครื่องประทินผิว ติดทนผิวหนังได้นาน และยังสามารถช่วยป้องกันแมลงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ชาวอาหรับมีความเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยของกฤษณานั้น ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้
ส่วนสรรพคุณทางยาตามตำรายาไทยระบุว่า เนื้อไม้กฤษณาซึ่งเป็นสีดำ และมีกลิ่นหอม รสขม ใช้ คุมธาตุ บำรุงโลหิตและหัวใจ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ใช้ผสมยาหอม แก้ลมวิงเวียนศีรษะ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงตับและปอดให้ปกติ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาเจียน ท้องร่วง แก้ไข้ต่างๆ บำบัดโรคปวดบวมตามข้อ ต้มดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ โดยนำมาผสมกับยาหอมกิน หรือนำมาต้มน้ำดื่ม กรณีกระหายน้ำมาก
ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุว่าเนื้อไม้ บำรุงโลหิตในหัวใจ บำรุงตับและปอด แก้ลมซาง ลมอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ไข้ บำรุงโลหิต แก่นไม้ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอด น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง และในตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีการนำแก่นไม้กฤษณาไปใช้หลายตำรับ โดยเป็นตัวยาผสมกับสมนุไพรชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดในตำรับเพื่อรักษาอาการของโรคต่างๆ เช่น ตำรับยาขี้ผึ้งบี้พระเส้น หรือยาถูนวดเส้น ตำรับยาน้ำมันมหาวิศครรภราชไตล ทำให้โลหิตไหลเวียนดี และเป็นยาคลายเส้น ตำรับยาทรงทาพระนลาฎ ใช้ทาหน้าผากแก้เลือดกำเดาที่ทำให้ปวดศีรษะ ยามโหสถธิจันทน์ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน และยังปรากฏเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีสมุนไพรชนิดอื่นๆร่วมอยู่ด้วยในตำรับ สำหรับในต่างประเทศ ในแหลมมลายู ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิดผงกฤษณาใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา
ในประเทศมาเลเซีย นำเอากฤษณาผสมกับน้ำมันมะพร้าว นำมาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือบรรเทาอาการของโรครูมาติซัม
ในตำรายาพื้นบ้านของอินเดีย ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในยาหอม ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และ ยาขับลม นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อัมพาตและเป็นตัวยา รักษาโรคมาลาเรีย