

ต้นหยี
ต้นหยี
ชื่อสามัญ : Velvet Tamarind
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dialium cochinchinense, Dialium indum linn.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE, CAESALHINIACKAE
ชื่ออื่นๆ : เขลง กาหยี นางดำ
หยี เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีอายุยาวนานเป็นร้อยปี มีถิ่นกำเนิดอยู่ในรัฐซาบาห์และซาราวักของประเทศมาเลเซีย และพบมีการกระจายพันธุ์อยู่ในอีกหลายประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย เป็นผลไม้พื้นเมืองทางภาคใต้ของไทย มักเจริญเติบโตอยู่ตามเชิงเขา ที่ดอนในป่าในแถบจังหวัด สงขลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น ลักษณะลำต้นของหยีมีขนาดสูงใหญ่คล้ายต้นพิกุล เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะเป็นรูปทรงไข่ เรียงสลับกันเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งประมาณ 5-7 ใบ ปลายใบและโคนใบแหลม แผ่นใบและขอบใบเรียบ ขนาดความกว้างของใบมีประมาณ 5 ซม. ยาวประมาณ 15 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อขนาดเล็กบริเวณปลายกิ่ง เป็นพวงสีขาว
ผล ลักษณะผลเป็นรูปทรงกลมรี ผลอ่อนจะมีเปลือกสีเขียว เมื่อสุกจะกลายเป็นสีดำ ผลที่โตเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 2 ซม. ภายในผลมีเนื้อสีน้ำตาล รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย มักให้ผลผลิตเมื่อมีอายุได้ประมาณ 15 ปี และให้ผลผลิตได้มากที่สุดเมื่อมีอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป
เมล็ด ภายในเนื้อผลสีน้ำตาล จะมีเมล็ดสีเทาอมดำรูปทรงกลมแบนอยู่เพียง 1 เมล็ด ซึ่งมีขนาดเล็กมาก การขยายพันธุ์ สามารถทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด วิธีการปลูก ต้นหยีสามารถเจริญเติบโตได้ดีตามสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไปในธรรมชาติ ก่อนนำเมล็ดไปเพาะปลูก ควรนำไปแช่น้ำให้นานพอที่จะทำให้มีการเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากเปลือกเมล็ดจะแข็งมาก ต้นกล้าจะเจริญงอกงามขึ้นมาหลังจากทำการเพาะไปประมาณ 2 เดือน ในระยะนี้ให้ทำการย้ายไปปลูกได้
การเก็บเกี่ยว :
ต้นหยีจะมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้หลังจากที่ปลูกไปได้ประมาณ 15-17 ปี และให้ผลผลิตได้มากที่สุดเมื่อมีอายุต้นได้ประมาณ 30 ปีขึ้นไป การเก็บเกี่ยวก็ต้องใช้วิธีตัดลงมาทั้งกิ่ง เนื่องจากมีต้นที่สูงใหญ่ไม่สะดวกที่จะเก็บเกี่ยวเฉพาะผลได้ และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี กว่าต้นจะแตกกิ่งก้านที่สมบูรณ์ขึ้นใหม่ และให้ผลผลิตในครั้งต่อไปได้ หลังจากตัดกิ่งที่มีผลลงมาแล้ว ก็ให้เด็ดผลออกจากก้านแล้วนำไปผึ่งแดด เมื่อกระเทาะเปลือกออกแล้วก็ใช้รับประทานได้ หากต้องการให้เก็บไว้ได้นานๆ ก็นำไปผึ่งแดดอีกครั้ง หรือจะนำไปแปรรูปเป็นลูกหยีกวน ฉาบ ทรงเครื่อง หรือน้ำผลไม้ เป็นต้น
ประโยชน์ :
โดยทั่วไปแล้วจะไม่ค่อยนิยมรับประทานผลลูกหยีแบบสดๆ แต่มักจะนำไปแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ทำให้มีรสชาติที่ชวนรับประทานมากยิ่งขึ้น และเป็นการถนอมอาหารเอาไว้ใช้ได้เป็นเวลานาน เมื่อนำไปจำหน่ายก็สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี ในเนื้อผลของลูกหยีจะประกอบไปด้วยสารอาหารมากมาย มีวิตามินซีสูง และยังมีกรดอินทรีย์ที่จำเป็นต่อร่างกาย เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยทำให้ชุ่มคอ สดชื่น กระปรี้กระเปร่า บรรเทาอาการไอ ลูกหยีเป็นผลไม้ที่ค่อนข้างหายาก อาจไม่ค่อยพบเห็นวางขายตามตลาดทั่วไปมากนัก แต่ปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากลูกหยีออกมาจำหน่ายอย่างมากมายเช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้