

ตำนานคลองแห
หลายร้อยปีมาแล้วมีคลองเล็กๆ สายหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดคลองแหในปัจจุบันชื่อว่า "คลองลาน"
กับคลองเล็กๆ อีกสายหนึ่งจากทิศใต้ ชื่อว่า "คลองเตย" ไหลมาบรรจบกันตรงบริเวณเนินดินและป่ารกครึ้มที่ชาวบ้านเรียกว่า "โคกนกคุ่ม" ก่อเกิดเป็นลำคลองสายใหญ่ชื่อว่า คลองแห มีผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลคลองแหได้เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณว่า ในครั้งที่มีการสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองตะมะลิง หรือ เมืองตามพรงลิงค์ ปัจจุบันคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เป่าประกาศให้ทราบโดยทั่วทุกหัวเมือง เพื่อเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสได้ร่วมเฉลิมฉลองในพิธีบรรจุพระบรม
สารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์ ฝ่ายชาวเมืองกลันตันซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองตะมะลิงมากกว่าเมืองอื่น ก็รวบรวมกันออกเดินทางมุ่งสู่เมืองมะตะลิง ค่ำมืดที่ใดก็พักแรมที่นั่น
ครั้นมาถึงสถานที่ซึ่งเรียกว่าคลองแหในปัจจุบัน เห็นว่าเป็นสถานที่สบายพื้นที่เป็นเนินสูงมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม เป็นคุ้งคลองน้ำสะอาด เมื่อพักแรมหนึ่งคืนแล้ววันรุ่งขึ้นก็เตรียมการเดินทางต่อไป ขณะที่จะเดินทางต่อไปนั้น มีขบวนคนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทิศเหนือบ่ายหน้าลงใต้ผ่านมาทางนั้น สอบถามได้ความว่าเดินทางกลับจากงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองมะตะลิง เมื่อทราบว่างานได้เสร็จสิ้นแล้ว ชาวเมืองกลันตันก็ล้มเลิกความตั้งใจจะเดินทางกลับ แต่มาคิดว่าสิ่งของต่างๆ ที่เตรียมมาเพื่อจะนำไปบรรจุในเดีย์เป็นพุทธพูชา เช่น แก้วแหวนเงินทอง ไหนๆก็ตั้งใจจะถวายเป็นพุทธบูชาจึงไม่นำกลับรวบรวมสิ่งของเหล่านั้นมากองไว้ แล้วอธิษฐานเป็นพุทธบูชาแล้วขุดหลุมฝังไว้ตรงพื้นที่สามเหลี่ยมที่คลองสองสายมาบรรจบกัน คือ คลองลานตรงมาจากทิศตะวันตก และคลองเตยที่มาจากทิศใต้แล้วเกิดเป็นคลองสายใหญ่ขึ้น
สถานที่ดังกล่าวปัจจุบันปรากฏเป็นเนินสูงมีน้ำล้อมรอบชาวบ้านเรียกว่า "โคกนกคุม" สำหรับเครื่องประโคมโหมแห่ต่างๆ ที่มาในขบวน เช่น ฆ้อง(ใบใหญ่) กลอง ฉิ่ง ฉาบ ก็นำมากองไว้ อธิษฐานเป็นพุทธบูชา แล้วก็จมลงในคลองสายใหญ่นั้น แต่นั้นมาชาวบ้านจึงเรียกคลองนั้นว่า "คลองฆ้องแห" แต่คนใต้ไม่นิยมพูดคำที่มีพยางค์ ต่อมาคำว่า "ฆ้อง" จึงหดหายไปเหลือเป็น "คลองแห" แต่เมื่อพูดเป็นสำเนียงใต้แล้วเสียงวรรณยุกต์เอกไม่มี คำว่า "แห่" จึงพูดเป็น "แห" และเรียก "คลองแห" มาจนทุกวันนี้